03 มกราคม 2556

มาศึกษาปัญหารถยนต์คันแรกกัน กูรูพูดไว้ได้น่าคิดมาก


ผู้ชายหันหน้าตรง

หลังนโยบายคืนภาษีรถคันแรก ดันยอดขายเฉพาะปีที่แล้วกว่า 1 ล้านคัน รัฐต้องควักกระเป๋าคืนเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท
พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ หรือ ‘น้าเดช’  ของน้องนุ่งและลูกหลานในวงการยานยนต์ เป็นอีกคนที่เกาะขบวนรถคันแรกกับเขาด้วยเหมือนกัน โดยการใช้ชื่อตัวเองถอยกระบะป้ายแดงมาขับชิลชิล  หลังจาก 8 คันก่อนหน้านี้ใช้ชื่อบริษัทซื้อทั้งหมด
ถามเขาว่าเพราะอะไร…
“ก็ผมได้คืนเงิน ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ และมีกำลังที่จะซื้อด้วย” ตรงไปตรงมาจากน้าเดช แต่สำหรับคนอื่นๆ เขามีบางข้อมูลและความคิดมาสะกิดเตือน

คุณมีมุมมองและความเห็นต่อนโยบายคืนภาษีรถคันแรกอย่างไร
ถ้าพูดถึงรถคันแรก ต้องพูดอดีต วันนี้ พรุ่งนี้ อดีตคือตอนที่จะเกิด เป็นธรรมดาของทุกรัฐบาลไม่ว่าฝ่ายไหน ก็ต้องการให้ประชาชนชอบ เลยต้องมีนโยบายที่คิดว่าคนชอบ แต่ว่าการเกิดของโครงการรถคันแรก ด้วยความเห็นส่วนตัวผม แนวคิดดี แต่ข้อบกพร่องค่อนข้างเยอะ เช่น รัฐบาลจะไปช่วยธุรกิจอะไรก็ตาม มันต้องไปช่วยธุรกิจที่เอาตัวไม่รอด แต่ธุรกิจรถยนต์มันเป็นธุรกิจเฟื่องฟู  ทำเท่าไหร่ก็ขายไม่พออยู่แล้วสำหรับประเทศไทย จะเห็นว่าแม้จะผ่านน้ำท่วมมาแล้วก็ยังขายถล่มทลาย ไม่มีรถคันแรกก็ตั้งเป้าอยู่แล้วว่า 1,100,000 คัน มันเป็นการไปช่วยธุรกิจที่ยืนได้อยู่แล้ว ทำให้มันเสียระบบ
อย่างบริษัทผมมีพนักงาน 22 คน มีสิทธิ์จริงๆแค่ 3 คน ถามว่าทำไมไม่ซื้อ พนักงานผมบอก ไม่มีเงินดาวน์อยู่แล้ว 8 หมื่น ไม่ใช่พอไปซื้อลด 5 หมื่น แล้วจะดาวน์แค่ 3 หมื่น ยังไงต้องหาเงินมาดาวน์ 8 หมื่นอยู่ดี เพื่อรอคืนปีหน้า งั้นก็ต้องไปกู้ ตรงนี้ทำให้เกิดช่องโหว่
ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่มีการยืมเครดิตและสวมสิทธิ์ เธอไม่ซื้อเหรอ ฉันใช้ชื่อเธอนะ ฉะนั้นพวกเต้นท์ก็มาสวมแบบนี้ ซื้อรถที่ได้ส่วนลดเยอะๆ 8 หมื่น แล้วก็ให้ค่าชื่อ 1 หมื่น แล้วเขาบอกว่าห้ามโอน โถ…รถยนต์ร้อยละ 90 ในตลาดน่ะ โอนลอยทั้งนั้น
ถามว่ายอดขายรวมปีนี้ผิดความคาดหมายไหม ไม่ผิดเลยครับ ถ้าคนในวงการจะรู้ว่าตัวเลขจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ ถ้ากำลังการผลิตมี ถ้ารัฐบาลไม่อั้นไว้ว่าไม่ส่งมอบให้ทันเกิน 30 มิถุนายนนะ ตัวเลขมากกว่านี้อีกบานเลย เพราะคนจะถูกยืมเครดิตมาซื้อเยอะมาก

ไม่ซื้อตอนนี้ก็โง่แล้ว?
คือถ้าคุณคิดว่าคุณเงินเดือน 15,000 ผ่อนรถ 6,000 เหลือ 9,000 คุณคิดว่าไหว ผมว่าคุณล่มตั้งแต่แรก เพราะมันมีค่าน้ำมัน ค่าโน่นนี่อย่างที่บอก พอเข้าปีที่สองคุณจะเปลี่ยนยาง 4 เส้น คุณต้องเริ่มหาร้านผ่อนยาง 0 เปอร์เซ็นละ คุณบอกงั้นจอดทิ้งไว้ที่บ้านเฉยๆ สิ คุณลองคำนวณเวลาคุณขายต่อสิ ว่าวันหนึ่งเงินคุณหายไปวันละเท่าไหร่
คนที่ไปกู้มาซื้อจะยุ่งมากเลยนะ เอาเป็นว่าคืน หลังจากปีที่สอง หากคุณไม่มีกำลังผ่อนล่ะ ทำไง ไฟแนนซ์ยึด เขาต้องไปดูสภาพรถ คุณยังค้างหนี้อีก 4 แสน รถคันนี้ขายได้ 3 แสน เขาฟ้องคุณ 1 แสน อันนี้ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเงิน 8 แปดหมื่นที่คุณได้ ต้องคืนรัฐบาลนะครับ เพราะมีการเปลี่ยนมือแล้ว ก็มีคนถาม งั้นก็ไปขายโอนลอยสิ อ๋อ ถ้าโอนลอยตอนนี้เต้นท์รู้แล้วว่าคุณเดือดร้อน คุณจะต้องเสีย 8 หมื่น ราคารถคุณจะหายไปเท่าไหร่ เพราะเขารู้ว่าคุณจะโอนลอยหลังจากผ่านปีแรกแล้ว คุณเดือดร้อนแน่

พวกเจียนอยู่เจียนไปแบบนี้จะทำอย่างไร
สิ่งที่ผมแนะนำคือ เมื่อคุณได้เงินจากรัฐบาลแล้ว คุณอย่าเอาเงินก้อนนั้นไปทำอะไรเลยนะ คุณเข้าแบงค์ รอจนกว่าจะผ่าน 5 ปี แล้วคุณถึงจะเอาเงินตรงนั้นมาใช้ได้ คือไม่ใช่แค่คุณไม่มีปัญญาผ่อนอย่างเดียวนะ ขับๆไปรถสิบล้อชน ปัง! ปีที่สองที่สามไม่มีประกันชั้นหนึ่งแล้ว มีแต่ประกันกันชั้นสามแล้ว ได้เงินค่าซากมาคุณจะทำยังไงกับเงินก้อนนั้น ไปตัดไฟแนนซ์ที่เหลือ รถเป็นซากไปแล้วประกันต้องให้คุณโอนทะเบียนให้เขาอยู่แล้วเพื่อเอาเงินค่าซาก การโอนแบบนี้ รัฐบาลจะถือว่าเปลี่ยนมือไหม ถ้าเปลี่ยนมือคุณก็ต้องคืนภาษีสิ ยุ่งตายโหงเลยนะ

เรื่องนายทุนขู่จะย้ายฐานการผลิตหลังจากเหตุน้ำท่วมมีผลทำให้เกิดนโยบายรถคันแรกด้วยใช่ไหม
ผมว่ามันเป็นเรื่องคิดเอง พูดเอง ถามบริษัทระดับใหญ่ๆอย่างฮอนด้า โตโยต้า ก็ได้ เขาไม่อยากให้เกิดโครงการนี้หรอก เพราะหลังน้ำท่วมเขาเร่งผลิตอยู่แล้ว ถ้าหลังน้ำท่วม รถผลิตมากองเต็มตลาดไม่มีคนซื้อ ไอ้นั่นอีกเรื่อง แต่ทุกบริษัทยืนยันว่าปีนี้ทะลุล้านแน่นอน เลย เพราะเขาวางแผนการเติบโตเป็นขั้นเป็นตอนอยู่แล้ว แต่คุณไปเร่งใส่ปุ๋ย ทำให้เขารวน ปีหน้าเกิดอะไรขึ้น โรงงานขนาดใหญ่คุณไม่ต้องห่วงหรอก ทุนเขามี ระบบเขาดีอยู่แล้ว
ถามว่าทำไมเมืองไทยเนื้อหอมสำหรับวงการรถยนต์ ผมบอกได้ว่า 1.โง่จริง 2 แกล้งโง่ ที่ว่าเขาจะหนีไปจากบ้านเรา ไม่หนีหรอกครับมีแต่จะมา โรงงานฟอร์ดที่ฟิลิปปินส์ก็ต้องปิดเพราะสู้เราไม่ได้ ที่ญี่ปุ่นยอดขายเขาตกฮวบทุกปีเลยนะครับ เพราะเขานั่งรถไฟฟ้ากัน ที่จอดรถก็ไม่พอ ขนส่งสาธารณะเขาดี

ผู้ชายหันข้างกำลังพูด

แต่ SME ได้ผลประโยชน์จากการผลิตอะไหล่
สิ่งที่คุณต้องห่วงคือพวกโรงงานเล็ก โรงงานน้อย SME ที่รัฐบาลอยากส่งเสริม Subcontract ทั้งหลายนั่นแหละ ปีนี้(2555) เคยวางแผนว่าปีนี้จะส่งให้โรงงานโตโยต้า 100 ชิ้น ปีหน้าเพิ่มกำลังเป็น 110 ชิ้น อีกปี 130 ชิ้น อยู่ๆ ปีนี้ปาเข้าไป 150 ชิ้น พวกนี้ทำไง ก็ต้องจ้างคนงานเพิ่ม ค่าแรงก็ถูกบวกเพิ่มเป็น 300 บาท ลงเครื่องจักรใหม่เหรอ ปีเดียวก็ยังไม่คืนทุน ปีหน้าพอกำลังการผลิตเขาถอยลง เขาคาดการณ์อย่างต่ำว่าลดลงแน่ๆ 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วพวกนี้จะทำยังไง นี่เป็นสิ่งที่คนในวงการรถยนต์เห็นกัน ทุกบริษัทบอกว่าปีหน้า ครึ่งปีแรกไม่มีผลกระทบหรอก เพราะยังผลิตรถส่งต่อ แต่ครึ่งปีหลังมิถุนายน เห็นผลตรงบริษัทเล็กจะดิ้นรนหนีตาย จะเกิดสงครามขึ้นอย่างรุนแรงในวงการ

ธุรกิจรถมือสองในปีหน้าจะเป็นอย่างไร
มันทำให้ธุรกิจรถมือสองตายไปแล้ว ตั้งแต่ประกาศโครงการ ถ้าคุณเป็นเจ้าของเต้นท์ คุณซื้อซีวิคมาไว้ในราคา 400,000 เพื่อรอขาย พอเขาประกาศโครงการรถคันแรก ถามว่าจะมีคนซื้อไหม คุณยอมซื้อซิตี้ดีกว่า ใหม่เอี่ยมเลย ได้ลดตั้งแสน ตลาดรถมือสองมันตายเลยไง
มันจะตายต่อในอีกสองปี ยกตัวอย่าง คุณสองคนซื้อนิสสันมาร์ชรุ่นเดียวกัน สีเดียวกัน คนหนึ่งไม่ใช้สิทธิ์ซื้อในราคา 520,000  อีกคนหนึ่งใช้สิทธิ์ซื้อได้ในราคา 450,000 อีกสองปีคุณเอารถสองคันนี้ไปขาย ถามว่าตลาดรถมือสองจะตีในราคาต้นทุนเท่าไหร่ เขาจะตีในต้นทุน 420,000 คือคนที่ไม่ใช้สิทธิ์เนี่ย พูดในภาษาไทยว่า เสียค่าโง่ไปแล้ว ทำไมไม่เอาสิทธิ์คนอื่นใช้วะ ตอนขายยังเสียค่าโง่อีก นี่คือปัญหาใต้พรม
เตนท์ที่มียอดขายมากๆ ก็จะมีแบงค์เข้ามาอุ้ม ทุกวันนี้เตนท์มันมีสังกัดหมดแหละครับ เตนท์ยอดขายต่ำก็มีแต่จะแย่ เวลาแบงค์ยึดมาได้ก็จะเอามาประมูล เตนท์ที่มีสังกัดก็จะได้ดอกเบี้ยถูก ได้เงินกู้จากเขาไปซื้อสินค้าจากเขา(รถที่ถูกยึด) แต่เตนท์เล็กๆจะลำบาก

แต่โครงการรถคันแรกถือว่าถูกจริตคนไทยอย่างจัง?
คนที่ซื้อเพราะจำเป็นต้องใช้รถ มีวินัยการเงินดี ตรงนี้โอเคเลย ผมไม่ได้ไปแตะต้อง แต่คนไทย โอ้โห แม่งได้ลดตั้งแสน ไม่ซื้อ เสียดายตายห่า พวกนี้แหละจะเจ๊ง ทั้งที่จริงๆ ยังไม่มีความจำเป็นต้องซื้อเลย ยกตัวอย่าง คนที่มีบ้านอยู่บางแค บางใหญ่เริ่มทำงาน ซื้อรถคันแรกได้ส่วนลด ใช้ไปสามปี รถไฟฟ้าไปถึงละ ถามว่าคนๆนั้นจะตัดสินใจยังไง 1. จอดรถทิ้งไว้ที่บ้าน ประหยัด นั่งรถไฟฟ้าเข้ามาทำงาน 2. กูมีรถแล้ว ดันทุรังขับเข้ามา น้ำมันก็แพง รถก็ติด 3.ขายรถ ก็นำเงินภาษีไปคืนรัฐบาล เพราะงั้นผู้บริโภคต้องวางแผนให้ชัดเจน ไม่งั้นเดือดร้อน

พฤติกรรมการซื้อรถของคนในบ้านเราเป็นอย่างไร
ผมพยายามบอกว่าคนไทยถูกหลอกว่าระบบโน้นดี ระบบนี้ดี คุณต้องการรถประหยัด แต่คุณไปซื้อรถที่มี mp3 เล่นซีดี กระจกขึ้นลงไฟฟ้าหมด ไม่มีความจำเป็นในการใช้รถเลย รถหนึ่งคันถ้าคุณถอดพวกนั้นหมดจากราคา 5 แสน เหลือไม่ถึง 4 แสน ไอระบบบ้าๆบอๆ ช่วยคุณจอด ถ้าคุณยังจอดรถไม่ได้คุณจะไปซื้อรถทำห่าอะไรวะ ระบบไฟฟ้าเปิดอัตโนมัติ มึงไม่รู้ว่ามันมืดแล้วมึงต้องเปิดไฟเหรอวะ กุญแจอัจฉริยะ หมุนกุญแจแค่นี้มึงจะตายเหรอ
ผมเขียนไปแบบนี้ ฝรั่งเขียนมาด่าผมเช็ดว่าผมขวางการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ผมคิดแบบคนไทยไงแบบลูกหลานผม สมมติเรียนมหาวิทยาลัยไกลๆ หรือที่ทำงาน ถ้ามีรถไปเพื่อไป-กลับแค่นี้ คุณจะไปมี GPS เพื่อห่าอะไร คุณหลงทางเหรอ แค่ไปมหาวิทยาลัย ที่ทำงาน บางคนก็บอกผมว่าพี่ก็พูดได้ ผมอยากมีรถสักคันก็อยากได้ตัวท็อปสุด โอเคผมก็ไม่รู้จะว่าไง

หรือเพราะประเทศไทยปล่อยให้ครอบครองรถง่ายเกินไป?
วัฒนธรรม… การคิดแบบไทยมันสวนโลก ยกตัวอย่างมอเตอร์ไซด์ก็ได้ สมัยผมต้องอายุ 18 ถึงมีใบขับขี่ได้ ต่อมาก็ลดเหลือ 15 ปี เด็ก 15-16 รับผิดชอบอะไรได้ ปัญหามันเลยเกิดไง คนขับรถยนต์ 18 ได้ใบขับขี่ละ แม่งซักผ้าเองยังไม่ได้เลย แต่คุณให้ขับรถขึ้นไปบนถนน ผมถึงไม่เคยโทษพวกนี้ไง เพราะสังคมเห็นด้วย อนุมัติเขา สังคมคือกฏหมาย ก็เรายอมให้เกิดแบบนี้ สมมติว่าเซนทรัลไม่ให้จอดละ เดี๋ยวเช่าที่แดนเนรมิตให้แล้วเดินมาใกล้ๆ คุณว่าจะมีคนเข้าห้างเขาไหม ไม่มีหรอก
คือมันผิดตั้งแต่กระบวนการทางความคิด เราส่งเสริมอุตสาหกรรมรถโตขึ้น ให้คนซื้อรถง่ายขึ้น คิดได้ยังไง แทนที่จะโตแบบมีคุณภาพ คนบ่น ไปจำกัดมากเดี๋ยวรถมันขายไม่ได้ คนจะตกงาน คนกลัวรถจะขายไม่ได้ไง เลยทำให้เราได้คนไม่มีคุณภาพเข้ามาอยู่ในรถมากขึ้น ผมไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องขับเก่งหมด แต่รถมันเป็นเครื่องจักรอันตราย ต่อคุณและคนอื่น แล้วเราจะได้ของอันตรายบนท้องถนนอีกเยอะมาก
นิสัยการขับรถก็อีกอย่าง คุณลองคิดสภาพนะ รถจอดรออยู่สามแถว อยู่ๆมีคันหนึ่งเลาะไหล่ข้าง คุณคิดละ ไอห่านี้มารยาทไม่ดี คันที่สองมา พวกนี้เลวเว้ย คันที่สามมา คุณคิด หรือกูต้องไปกับมันวะ พอคนที่ห้ามา คุณคิดละ กูโง่ฉิบหายทำไมไม่ไปกับมันวะ แล้วคุณก็ต้องไปกับมัน บางทีผมก็ไปนะ ยอมรับเลย คือสังคมมันกลายเป็นว่า คนโง่เท่านั้นที่ทำตามระเบียบ
คนไทยเราชอบทำตัวเป็นตำรวจ เป็นอัยการ เป็นศาลได้หมดบนถนน กูไม่ให้มึงแซง พอขี่ช้าต้องบีบแตรไล่ พอแซงได้ต้องลงโทษ โฉบปาดหน้า เป็นศาลตัดสิน ไอ้นี่สมควรตาย กูจะเบียดมึงให้ตกถนน  ถนนทุกวันนี้มันเหมือนโคลิเซี่ยมสมัยโรมัน สัตว์ร้ายที่เข้มแข็งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด ไม่มีการให้อภัยกัน ทุกคนเอาคืนกันหมด
ผู้ชายหันข้างกำลังพูด


ทำไมบางคนมีคอนโดฯ ติดกับรถไฟฟ้า ก็ยังต้องซื้อรถยนต์อยู่ดี
ผมถึงบอกว่า นโยบายรัฐบาลอยากช่วยประชาชนรากหญ้า แต่มันไม่ใช่ เพราะรถส่วนใหญ่ของโครงการมันเป็นรถใช้ในเมือง รถขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นตัวหลักเลยนะครับ คือวัฒนธรรมไทยเรา ที่ คือวัฒนธรรมไทยเรา คนไทยรอไม่ได้ถ้าแถวยาว อีกอย่างในกรุงเทพฯ มันเป็นเมืองประชากรหลั่งไหล รกรากในกรุงเทพฯมีอยู่สัก 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจากต่างจังหวัด ทีนี้พวกเทศกาลไทยต่างๆ สงกรานต์ฉันต้องกลับบ้าน เข้าพรรษาต้องไปหาแม่ เป็นต้น

ไม่ปลื้มระบบขนส่ง
เนี่ย คือระบบ Mass Transit ขนส่งมวลชนสาธารณะบ้านเรามันไม่ต่อเชื่อม อย่างที่บอกว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองอพยพไง พอถึงเทศกาลก็กลับบ้านเกิด รถทัวร์เต็ม รถไฟเต็ม เครื่องบินเต็ม กูมีรถดีกว่าวะ ชั่วๆดีๆ เอาไว้กลับบ้าน แต่ถ้ารัฐส่งเสริมระบบพวกนี้ดีๆ ความจำเป็นในการมีรถจึงจะน้อยลง
ระบบขนส่งมวลชนพวกนี้ก็ไม่วางแผนตัวเอง แม้กระทั่งแบบผูกขาดอย่างรถไฟยังเจ๊ง ไม่น่าเป็นไปได้ อะไรที่รัฐทำเนี่ย เจ๊งหมด บขส.รถร่วมรวยเอาๆ ผมเห็นนครชัยฯ ซื้อที่วิภาวดี ถามว่าไร่ละเท่าไหร่ การวางแผนของรัฐมากกว่าที่เป็นปัญหา แบบที่ญี่ปุ่น ขนส่งสาธารณะในญี่ปุ่นสบายมาก มีรถบัสบริการตั้งแต่สนามบินถึงโรงแรม แต่บ้านเราไม่ได้หรอกถ้าเอารถบัสมา แท็กซี่ป้ายดำแม่งทุบ แท็กซี่รวมหัวกันปิดสนามบิน คุณเชื่อผมไหม พูดยากเหมือนกัน

ถ้าขยายระยะเวลาของโครงการรถคันแรกให้ยาวออกไป จะเป็นอย่างไร
ถ้ามีอีกก็ฉิบหายครับ ใครฉิบหาย ก็ทั้งหมดแหละครับ บริษัทรถก็ฉิบหายเพราะสินค้ามันไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เป็นภาพลวง บริษัทที่ไม่มีรถเข้าข่ายเงื่อนไข รถนำเข้าตายสนิท รถมือสองฉิบหายแน่ ไฟแนนซ์ก็เหมือนกัน อันสุดท้ายคือประชาชนแหละครับ ฉิบหายจากอะไร คือคนไทยเราไม่สนใจเรื่องเครดิต พอเข้าปีที่สามรถมันต้องเริ่มซ่อมละ คุณหาทางทิ้งเพื่อซื้อคันใหม่ ถ้ามีต่อแล้วร่างกติกาใหม่ก็อาจจะดีขึ้น ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้าภายใต้กติกานี้ก็ฉิบหายแน่

Credit by http://waymagazine.org